การการุณยฆาต (Euthanasia) ในสัตว์ทดลอง โดยการใช้วิธีทางกายภาพ (Physical Method) การการุณยฆาต (Euthanasia) ในสัตว์ทดลอง โดยการใช้วิธีทางกายภาพ (Physical method) คือ การทำให้สัตว์ตายอย่างสงบโดยที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการเหนี่ยวนำให้สัตว์หมดความรู้สึกตัว เพื่อหลีกเลี่ยงในกรณีที่สารเคมีอาจจะไปมีผลรบกวนผลของการทดลองหรือวิจัยบางอย่างได้
วิธีการุณยฆาตสัตว์ทดลองโดยวิธีทางกายภาพ ได้แก่
1. การดึงคอ (Cervical dislocation) เป็นวิธีที่เหนี่ยวนำให้สัตว์หมดความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีการ ตกค้างของยาหรือสารเคมีที่อาจไปรบกวนเนื้อเยื่อของสัตว์ นิยมใช้ในการการุณยฆาตสัตว์ปีก หนูเมาส์ หนูแรท ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 200 กรัม และกระต่ายที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัม โดยในหนูเมาส์และหนูแรท ผู้ปฏิบัติงานจะใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือข้างเดียวกันกดบนบริเวณหลังคอที่ฐานกระโหลกของสัตว์ทดลอง หรืออาจใช้อุปกรณ์ที่เป็นแท่ง เช่น ด้ามมีด หรือด้ามของปากคีบแทนการใช้นิ้วมือ โดยวางบนหลังคอบริเวณฐานกะโหลก และใช้มืออีกข้างจับที่หางสัตว์ทดลองให้แน่น และออกแรงดึงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้กระดูกคอแยกออกจากกะโหลกของสัตว์ทดลอง สำหรับกระต่ายขนาดเล็ก ผู้ปฏิบัติงานจะใช้มือข้างหนึ่งดึงส่วนหัว และใช้มืออีกข้างดึงขาหลังของสัตว์ให้แน่น และออกแรงดึงให้ส่วนคอเกิดการยืดตัวออก เพื่อเป็นการแยกส่วนกระดูกคอชิ้นแรกออกจากกะโหลกสัตว์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและยืนยันการตายทุกครั้ง 1
2. การตัดคอ (Decapitation) ใช้ในงานวิจัยที่ไม่ต้องการให้มียาหรือสารเคมีไปรบกวนเนื้อเยื่อ และของเหลวในร่างกาย อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อสมอง2 โดยนิยมใช้ในการการุณยฆาตสัตว์ทดลองประเภทสัตว์ฟันแทะ เช่น หนูเมาส์ หนูแรท และกระต่ายขนาดเล็ก การตัดคอจะต้องปฏิบัติโดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ และมีความชำนาญเป็นอย่างดี และต้องปฏิบัติภายใต้อุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ เครื่องตัดหัวสัตว์ (Guillotine) ที่อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรง มีความคม รวมทั้งมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยเครื่องตัดหัวสัตว์ถูกออกแบบมาสำหรับสัตว์ฟันแทะที่โตเต็มวัย และกระต่ายขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งจะไม่เหมาะสมสำหรับสัตว์ฟันแทะขนาดแรกเกิด (Neonatal rodent)1
3.การใช้รังสีไมโครเวฟ (Microwave irradiation) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยทางระบบประสาท เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อ และเมตาบอลิซึมของสมอง3 โดยจะเหนี่ยวนำให้สัตว์ตายอย่างรวดเร็วโดยการให้ความร้อนผ่าน ไปยังส่วนสำคัญของสมอง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีราคาสูง และต้องออกแบบมาสำหรับการุณยฆาตในหนูเมาส์และหนูแรทเท่านั้น1 หรือในกระต่ายที่มีน้ำหนักไม่เกิน 300 กรัม3
การตรวจสอบและการยืนยันการตาย (Recognition and confirmation of death) ภายหลังจากการสิ้นสุดการการุณยฆาตทุกครั้ง ควรมีการตรวจสอบเพื่อยืนยันการตาย โดยบุคคลที่มีความชำนาญในวิธีปฏิบัติ และรู้จักการยุติอาการที่สำคัญต่อชีวิตของสัตว์ที่ถูกทำการุณยฆาต โดยสามารถสังเกตจากอาการ ดังนี้ สังเกตการหยุดหายใจ การหยุดเต้นของหัวใจ โดยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือข้างเดียวกันกดบริเวณหน้าอก การไม่ตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นคือ ไม่กระพริบตาเมื่อจับที่หัวตา4
การเลือกวิธีเพื่อการุณยฆาตในสัตว์ทดลอง จะขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์และวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือการใช้งาน โดยทั่วไปการใช้สารเคมีชนิดสูดดม หรือสารเคมีประเภทยาฉีด มักเป็นที่ยอมรับมากกว่าวิธีทางกายภาพ แต่ในงานวิจัยบางเรื่องอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้ยาหรือสารเคมีที่มีผลต่อการวิจัยหรือการทดลอง ดังนั้น การการุณยฆาตควรอยู่ภายใต้การทบทวนและอนุมัติโดยคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองประจำหน่วยงาน5
References
1: American Veterinary Medical Association (AVMA). 2013. AVMA Guidelines on Euthanasia (Formerly Report of the AVMA Panel on Euthanasia). [Online]. Available: https://www.avma.org/KB/Policies/Documents/euthanasia.pdf
2: Rijn Clementina M. van, Hans Krijnen, Saskia Menting-Hermeling, Anton M. L. Coenen. 2011. Decapitation in Rats: Latency to Unconsciousness and the ‘Wave of Death’. PLoSONE journal. 6(1): e16515.doi:10.1371/journal.pone.0016514.
3: Close Bryony, Keith Banister, Vera Baumans, Wolff Erhardt, Paul Flecknell, Neville Gregory, Hansjoachim Hackbarth, David Morton, Clifford Warwick. 1996. Recommendations for euthanasia of experimental animals: Part 1. Laboratory Animals. 30: pp. 293-316.
4: University of Minnesota. 2009. Euthanasia Guidelines. [Online]. Available: http://www.ahc.umn.edu/rar/ euthanasia.html.
5: National research council (NRC). 2011. Guide for the care and use of Laboratory animals 8th edition. National Academic Press, D.C. pp. 123-124.
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ การตั้งค่าคุกกี้