สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)
สถานภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง



Animal model
Animal model หมายถึง สัตว์ที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เราต้องการศึกษา (ที่มา; สำนักงานมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์) ในงานวิจัยที่มีการศึกษาเกี่ยวกับภาวะความเจ็บป่วยของมนุษย์ จะมีการใช้สัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยวิธีการต่างๆ ให้เกิดภาวะความผิดปกติที่ผู้ศึกษาสนใจเพื่อเป็นตัวแทนในการศึกษา
งานการสัตวแพทย์ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการทำ Animal model อย่างต่อเนื่องโดยดำเนินการพัฒนา Animal model ด้วยวิธีการผ่าตัด (Surgical animal model) ซึ่ง Surgical animal model ที่กำลังพัฒนาผ่านการฝึกอบรม หรือพัฒนา ได้แก่
- การทำ Arterio-Venous shunt สร้างทางเชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ให้การไหลเวียนเลือดจากเส้นเลือดแดงไปยังเส้นเลือดดำโดยตรง เพื่อใช้เป็น Animals model สำหรับงานวิจัยและงานทดสอบต่างๆ เช่น กลไกการทำงานและการออกฤทธิ์ของยาหรือสารต่างๆต่อการออกฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (Takayuki et al., 2012 )
- การทำ Hypophysectomy หรือการผ่าตัดต่อมพิทูอิทารีออก สำหรับรองรับงานวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ Growth hormone ในระดับก่อนคลินิก (Preclinical triall) (Closset et al., 1991)
- การทำ Ovariectomy โดยการผ่าตัดเอารังไข่ของสัตว์ทดลองเพศเมียออกไปเพื่อเป็น Animal model สำหรับงานวิจัยหรืองานทดสอบต่างๆ เช่น การขาดฮอร์โมน Estrogen ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในสัตว์ทดลอง (Jee and Yao, 2001)
Surgical model อื่นๆ ได้แก่
- Adrenalectomy
- Thymectomy
- การตัดต่อเส้นเลือดขนาดเล็กและการใส่/สอดท่อในเส้นเลือด Femoral artery & vein
- Myocardial infarction
- Splenectomy
- Stroke model
- Cannulation/intubation and/or Jugular vein catheterization
การการุณยฆาต
การการุณยฆาต (Euthanasia) Euthanasia เป็นภาษากรีก ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ Eu หมายถึง Good และ Thanatos หมายถึง Death โดยแปลรวมความได้ว่า “กระบวนการที่ทำให้สัตว์ตายอย่างสงบโดยมีมนุษยธรรม” ซึ่งควรจะทำให้สัตว์หมดความรู้สึกอย่างรวดเร็วและตายโดยปราศจากความเจ็บปวดหรือความทรมาน โดยมีลักษณะของการตายที่ดี (Good death) คือ การตายหรือหมดความรู้สึกโดยที่เกิดความเจ็บปวดและความเครียดน้อยที่สุด (AVMA, 2013) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรแกรมการดูแลทางการแพทย์โดยสัตวแพทย์ของหน่วยงานที่มีการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลอง เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงหรือสิ้นสุดงานวิจัยต่างๆ เพื่อการปลดสัตว์ทดลองที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม (Culling) การตรวจสอบคุณภาพ การตรวจวินิจฉัยสัตว์ป่วย หรือเป็นการระงับความเจ็บปวด หรือความทรมานที่ไม่สามารถบรรเทาด้วยการวิธีรักษ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สัตว์ตายอย่างสงบ (University of Minnesota, 2009) ดังนี้
1. สูญเสียน้ำหนักตัว (Weight loss) คือ การสูญเสียน้ำหนัก 20-25 % ของน้ำหนักตัว
2. การเบื่ออาหาร (Inappetance) คือ การที่สัตว์ไม่กินอาหารและน้ำ โดยในกลุ่มสัตว์ฟันแทะจะพิจารณาจากการไม่กินอาหารนาน 24 ชั่วโมง หรือได้รับพลังงานน้อยกว่า 50% ของที่ต้องการในแต่ละวันเป็นเวลา 3 วัน
3. อ่อนเพลีย (Weakness) คือ สัตว์แสดงอาการอ่อนแรง ไม่มีความสามารถในการไปกินน้ำหรืออาหารเองได้
4. ภาวะใกล้ตาย (Moribund state) คือภาวะที่สัตว์ไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นได้
5. ภาวะร่างกายมีการติดเชื้อ (Infection) คือ การที่สัตว์มีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ หรือค่าเม็ดเลือดขาวสูง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
6. ภาวะผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย หรือการไม่ตอบสนองต่อการรักษาและได้พิจารณาโดยสัตวแพทย์แล้ว ดังนี้
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก (Dyspnea) เยื่อเมือกมีสีคล้ำ (Cyanosis)
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เยื่อเมือกซีดจากการสูญเสียเลือด หรือ
โลหิตจางซึ่งส่งผลให้ค่าเซลล์เม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit) ต่ำถึง 20%
- อาการทางระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น สัตว์มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง ลำไส้อุดตัน (Obstruction)
ลำไส้กลืนกัน (Intussusception) และ ช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เป็นต้น
- อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและสืบพันธุ์ เช่น ไตสูญเสียหน้าที่ (Renal failure) โดยมีค่า BUN (Blood urea nitrogen) และ
Creatinine เพิ่มขึ้น
- อาการทางระบบประสาท เช่น สัตว์มีอาการซึม (Depression) ชัก (Seizures) หรือเป็นอัมพาต (Paralysis) โดยไม่ตอบสนองต่อการรักษา
- อาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อถูกทำลาย การบาดเจ็บของกระดูก ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้ขาหรือ
เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายได้
- อาการทางระบบผิวหนัง เช่น สัตว์มีแผลเรื้อรัง
การการุณยฆาตในสัตว์ทดลองสามารถทำได้โดยใช้สารเคมี เช่น การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) หรือ การใช้ยาฉีด Pentobarbital เป็นต้น และโดยใช้วิธีทางกายภาพ เช่น การดึงคอ (Cervical dislocation) เป็นต้น ซึ่งจะต้องเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อตัวสัตว์น้อยที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่องานวิจัย รวมถึงมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น ผู้ทำการการุณยฆาตควรเป็นบุคคลที่มีความชำนาญในวิธีปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการการุณยฆาตมีการดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นไปอย่างมีจริยธรรม มนุษยธรรม และสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง